Uttaradit Provincial Education Office 2024

thzh-CNen



วันที่ 7 - 8 เมษายน 2566 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง รู้จัก ITA สู่การเสริมสร้างจริยธรรม สร้างวัฒนธรรมต้านการทุจริต ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ ขุนฝางแคมป์ปิ้ง ตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์


โดยมี นายพรชัย จันทะคุณ ศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานและเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ และได้แจ้งกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566  นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพฯ กล่าวว่า การจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องพึงระลึกต่อสิ่งที่ “ควรกระทำ” หรือ “ไม่ควรกระทำ” (Dos & Don’ts) ตระหนักถึงการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ แยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่ โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ตลอดจนดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี และรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ เพื่อให้คนของกระทรวงศึกษาธิการเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้นแบบไปสู่ระดับประเทศ

ทั้งนี้ ขอให้ยึดแนวทางการขับเคลื่อนจริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. นโยบายส่งเสริมจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ (พ.ศ. 2565 – 2570) โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน สป.ศธ. โดยจัดทำข้อตกลงทางจริยธรรมร่วมกัน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) การพัฒนาผลักดันนโยบายการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมและบูรณาการรวมพลังกับทุกภาคส่วน ภายใต้ประเด็นท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่ว่า “ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีข้อกังขา และไม่สูญเปล่า” และการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการสื่อสารที่เข้าถึงและร่วมรณรงค์สร้างสังคม-วัฒนธรรมจริยธรรม
  2. ข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยจัดทำตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย 7 ข้อ คือ 1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ 3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ 5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน 6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ 7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ รวมทั้งประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  3. แนวปฏิบัติที่ควรกระทําหรือไม่ควรกระทํา (Dos & Don’ts) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสังกัด ต้องรักษาจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ โดยจะต้องประพฤติปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่ตามหลักคุณธรรม จริยธรรม โดยยึดถือแนวปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ (Dos & Don’ts) เช่น จงรักภักดีต่อประเทศชาติ มีความภูมิใจในความเป็นไทย รักษาผลประโยชน์ของชาติและรักษาความลับเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และนำหลักธรรมตามศาสนาที่ตนเคารพนับถือ มาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นต้น

และในส่วนของการจัดตั้งทีมให้คำปรึกษาตอบคำถามทางจริยธรรมและคณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องจริยธรรม ให้ใช้คำสั่งเดียวกับคำสั่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 17/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาบุคลากรสู่องค์กรคุณธรรม โดยมีศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการกลุ่มทุกกลุ่มเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาตอบคำถามทางจริยธรรมและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องจริยธรรมของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์